ภาษีนั้นมีอยู่หลายประเภท ผู้ที่ทำธุรกิจ SMEs ควรรู้ไว้ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs มีอยู่ทั้งหมด 6 ประเภท มีอะไรบ้าง มาดูกัน
มีคำกล่าวว่า สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือความตายและภาษี แม้ในบทบาทคนธรรมดา แค่ซื้อของในร้านสะดวกซื้อก็ได้จ่ายภาษีแล้ว ดังนั้นในการทำธุรกิจก็ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องภาษีเช่นเดียวกัน เมื่อผู้ประกอบการทำการจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้วนั้น จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องด้วยกันอยู่หลายประเภท จำเป็นต้องทำความเข้าใจและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ต้องวางแผนจัดการให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจโดนปรับเบี้ยเพิ่มจากกรมสรรพากร ลองมาดู 6 ประเภทภาษี ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs ว่ามีอะไรบ้าง
6 ประเภทภาษี ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วน โดยกรมสรรพากรจะเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้รัฐบาล เรียกง่าย ๆ คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากนิติบุคคลนั่นเอง โดยในหนึ่งปีจะยื่น 2 ครั้ง คือภาษีเงินได้ครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด. 51 และภาษีเงินได้ ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.50
สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ฐานภาษีจะคำนวณมาจากกำไรสุทธิทางภาษี เรียกง่าย ๆ คือ จะเก็บภาษีจาก “ผลกำไร” ของบริษัท ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ บริษัทจำเป็นต้องมีการทำบัญชีที่ชัดเจน รับรู้ต้นทุน รายได้ที่ถูกต้อง เพื่อนำมาใช้คำนวณผลกำไร ซึ่งส่วนของกำไรนี้เอง ที่จะคิดเป็น “เงินได้” ที่ต้องเสียภาษี
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือที่เรียกว่า VAT คือ ภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า โดยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันจะอยู่ที่ 7% โดยตามกฎหมายประเภทภาษีนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี บริษัทจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ให้กับสรรพากรในเวลาที่กำหนด โดยใช้ ภ.พ.30 (เอกสารสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย) ในการยื่นแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรทุกเดือน
ประเภทภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง จะคำนวณมาจาก ‘ภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ’ โดยภาษีขายก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เราเรียกเก็บกับลูกค้า โดยเก็บเพิ่มหรือบวกเพิ่มไปในราคาสินค้า/บริการ ส่วนภาษีซื้อ ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เราชำระให้กับผู้ขาย เมื่อไปซื้อสินค้า/บริการกับที่อื่น (ซึ่งส่วนนี้จะเป็นภาษีที่ขอคืนได้)
ถ้าในเดือนภาษีนั้น ภาษีขาย มากกว่า ภาษีซื้อ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเท่ากับส่วนต่างระหว่างภาษีขายและภาษีซื้อให้กรมสรรพากร แต่ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จะสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จากสรรพากรได้ หรือเก็บเป็นเครดิตไว้หักลบในเดือนถัดไปก็ได้ ดังนั้นการจัดการภาษีซื้อ ภาษีขายจึงมีความสำคัญมาก หากไม่มีการบันทึกบัญชีภาษีซื้ออย่างถูกต้องตามจริง จะทำให้เสียโอกาสในการขอคืนภาษีได้
3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ ผู้จ่ายเงินต้องหักเงินผู้รับเงิน เอาไว้บางส่วน หากเข้าใจง่าย ๆ คือเมื่อบริษัท ต้องได้ไปจ่ายค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคล บริษัทจะต้องหักเงินจำนวนหนึ่งตามกฎหมาย หรือ หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้เพื่อนำส่งภาษีให้รัฐ จำนวนเงินที่หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้นั้นจะต้องนำส่งสรรพากรภาย ในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปโดยใช้แบบ ภงด.3 (หัก ณ ที่จ่ายบุคคลธรรมดา) หรือ ภงด.53 (หัก ณ ที่จ่าย นิติบุคคล)
โดยประเภทภาษีหัก ณ ที่จ่าย อัตราภาษีที่ต้องหัก จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเราจ่ายให้ใครและจ่าย ค่าอะไร เช่น ค่าบริการ หัก ณ ที่จ่าย 3%, ค่าเช่า หัก ณ ที่จ่าย 5%, ค่าขนส่ง หัก ณ ที่จ่าย 1% เป็นต้น และผู้หักจะต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหัก หนังสือฉบับนี้ผู้ถูกหักสามารถนำไปขอคืน จากรัฐหรือไปลดภาระภาษีได้
4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่เรียกเก็บแบบเฉพาะธุรกิจ บางธุรกิจเท่านั้น โดยทั่วไป เช่น ธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ ธุรกิจค้าขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น รายละเอียดจะอยู่ในกฎหมายเฉพาะที่ใช้กำกับดูแลธุรกิจแต่ละประเภทโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าทำธุรกิจที่เข้าข่ายธุรกิจเฉพาะก็จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการยื่นภาษี
5. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้าย โดยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ป้ายในที่นี้ หมายความว่า ป้ายที่ปรากฏ ชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายทางการค้า สำหรับการประกอบกิจการ การทำการค้าหรือ โฆษณาเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใดๆ ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายก็มีป้ายบางชนิดที่ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งจุดนี้หากผู้ประกอบการมีการ ทำธุรกิจที่ต้องมีป้าย ตั้งป้าย ต้องประเมินก่อนว่าป้ายที่ใช้นั้นเข้าข่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ เพื่อไม่ให้ถูกปรับ เพราะหากไม่เสียภาษีป้ายภายในวันที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท หรือหากพบว่าจงใจไม่ยื่นแบบประเมินภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท เลยทีเดียว
6. อากรแสตมป์
อากรแสตมป์ คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่รัฐจัดเก็บจากการกระทำตราสาร (เอกสารแสดงสิทธิ์ต่างๆ) หรือ ทำสัญญา ซึ่งตามประมวลรัษฎากรแล้วภาษีประเภทนี้จะจัดเก็บในรูปแบบของดวงแสตมป์ ใช้ในการปิด บนเอกสารที่ใช้ในราชการ ปิดบนหนังสือสัญญาต่าง ๆ ซึ่งสามารถซื้ออากรแสตมป์ได้ที่กรมสรรพากร
อากรแสตมป์ ไม่ใช่แสตมป์สำหรับส่งไปรษณีย์ แต่อากรแสตมป์เป็นภาษีที่ต้องเสียเมื่อทำธุรกรรมบางอย่าง (มี 28 อย่าง) เช่น สัญญาเช่าที่ เช่าซื้อ จ้างทำของ หรือการกู้ยืมเงิน เป็นต้น
ท่านไหนที่ทำธุรกิจ SMEs อยู่ตอนนี้ ก็อย่าลืม ภาษีทั้ง 6 ประเภทนี้นะคะ ท่านไหนที่สนใจเกี่ยวกับระบบ SunSystems หรือบริการอื่นๆ ของ IMAS สามารถติดต่อได้ที่ Chanaporn@i-mas.net หรือ sunsupport@i-mas.net สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-6667400 หรือ Line Official : @imas.official (มี @ ด้วยนะคะ)