สรุปไว้แล้ว ลดหย่อนภาษี ปี’67 มีรายการอะไรกันบ้าง

หากพูดถึงการลดหย่อนภาษี เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะด้วยหน้าที่ที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้ทุกปีอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญ หรืออาจจะมองข้ามประโยชน์ของค่าลดหย่อนภาษีไป ซึ่งต้องบอกเลยว่า อาจจะกลายเป็นข้อผิดพลาดในการวางแผนภาษีในแต่ละปี

การคำนวณเงินได้สุทธินั้นสามารถคิดคำนวนได้แบบง่ายๆ คือ

เงินได้สุทธิ = (รายได้รวมต่อปี – ค่าใช้จ่าย) – ค่าลดหย่อน

ซึ่ง “เงินได้สุทธิ” ก็คือจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณภาษี หากมีค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นำมาหักออกจากรายได้ ก็ยิ่งช่วยให้สามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีลงได้ ดังนั้นการวางแผนภาษีจึงควรเริ่มวางแผนตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้สามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้มากที่สุด

โดยสิ่งที่ควรรู้อันดับแรกก็คือ ใช้อะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง และรายจ่ายใดบ้างที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำมาคิดคำนวณ และหักออกจากรายได้ในแต่ละปีได้

1. สิทธิลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว

  1. สิทธิลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ : ผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองได้จำนวน 60,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของการลดหย่อนภาษีที่ทุกคนได้รับ
  2. สิทธิลดหย่อนสำหรับคู่สมรส : ผู้คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้จำนวน 60,000 บาท แต่กรณีที่คู่สมรสเป็นผู้มีเงินได้ สามารถเลือกยื่นภาษีแยกหรือรวมกันได้
  3. สิทธิลดหย่อนสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย : บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนเอง หรือคู่สมรส จะได้รับสิทธิลดหย่อนคนละ 30,000 บาท กรณีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท โดยบุตรแต่ละคนจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และต้องมีอายุไม่ถึง 20 ปี หรือหากอายุไม่เกิน 25 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีขึ้นไป รวมถึงหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
  4. สิทธิลดหย่อนสำหรับบุตรบุญธรรม : บุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดได้ไม่เกิน 3 คน และบุตรบุญธรรมต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท

    ทั้งนี้ หากผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้สิทธิลดหย่อนส่วนนี้ก่อน หากใช้ครบ 3 คนแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหล่อนของบุตรบุญธรรมได้อีก
  5. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร : ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์ หากเป็นการตั้งครรภ์แฝด จะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์เท่านั้น โดยจะต้องมีเอกสารมาแสดง คือ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้จ่ายให้สถานพยาบาล ใช้สิทธิได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
  6. สิทธิลดหย่อนสำหรับอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา : บิดา มารดา ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยบิดา มารดาต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และในกรณีที่ยื่นรายได้รวมกับคู่สมรส สามารถนำบิดาและมารดาของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ด้วย สูงสุดคือ 4 คน

    ทั้งนี้มีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ หากในครอบครัวมีบุตรหลายคนที่อุปการะบิดาหรือมารดา บุตรแต่ละคนจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดา มารดาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซ้ำซ้อนได้ และต้องมีหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) ส่วนบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อนในส่วนนี้
  7. สิทธิลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา : สิทธิลดหย่อนนี้สามารถใช้สิทธิได้ทั้งบิดามารดาของตนเอง และคู่สมรส โดยจะได้สิทธิลดหย่อนตามจริง แต่เมื่อนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพรวมกัน ทั้งของบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา มารดาจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้เช่นกัน
  8. สิทธิลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตและประกันชีวิตแบบบำนาญของคู่สมรส : หากในปีภาษีนั้น ๆ คู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้สูงสูด 10,000 บาท
  9. สิทธิลดหย่อนสำหรับอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ : หากผู้มีเงินได้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยคนพิการ/ทุพพลภาพนั้น มีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และผู้มีเงินได้มีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะจะได้รับสิทธิลดหย่อน 60,000 บาท

    กรณีผู้พิการ/ทุพพลภาพ เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร จะได้รับสิทธิลดหย่อนทั้ง 2 ส่วน และได้รับสิทธิทุกคนโดยไม่จำกัด แต่หากไม่ได้มีความสัมพันธ์นี้กับผู้มีเงินได้ จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น

2. สิทธิลดหย่อนจากการออม การลงทุน และประกันชีวิต

  1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม : เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถแบ่งได้ตามมาตรา คือ
    มาตรา 33 หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท (มนุษย์เงินเดือน)
    มาตรา 39 หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,184 บาท
    มาตรา 40 หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 840 (ทางเลือกที่ 1), 1,200 (ทางเลือกที่ 2) และ 3,600 (ทางเลือกที่ 3)
  2. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน : สามารถนำมาหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ เฉพาะของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  3. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) : กองทุนนี้เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระเท่านั้น สามารถหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  4. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์ : สามารถลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป โดยหากมีผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์) ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
  5. เบี้ยประกันสุขภาพ : สามารถลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์แล้ว จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  6. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ : สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

    ทั้งนี้กรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ได้ทำประกันชีวิตแบบทั่วไป จะสามารถนำเบี้ยประกันแบบบำนาญไปหักลดหย่อนในส่วนนี้ได้ก่อน หรือหากใช้เบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนไปแล้ว แต่ยังไม่เกิน 100,000 บาท ก็สามารถนำเบี้ยประกันแบบบำนาญไปหักให้เต็มจำนวน 100,000 บาทได้ก่อน ส่วนที่เหลือจะสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มอีกสูงสุด 15% ของรายได้
  7. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) : สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งจะต้องลงทุนในธุรกิจ หรือลงทุนในหุ้นของธุรกิจที่ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งหากเป็นการลงทุนในหุ้น จะต้องถือหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จนกว่าจะเลิกกิจการ
  8. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  9. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้** และสุงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

    **อัปเดตข้อมูลเดือนมีนาคม 2567 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้จนถึงปี 2567
  10. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) : การลงทุนในกองทุน Thai ESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และสูงสุดต้องไม่เกิน 300,000 บาท

    *กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ หมายถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

3. สิทธิลดหย่อนจากมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย : สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด
  2. โครงการ Easy e-Receipt : ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถนำใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงรวม VAT แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และจะต้องเป็นสินค้าที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตามระบบของกรมสรรพากรเท่านั้น
  3. เที่ยวเมืองรอง : มาตรการลดหย่อนภาษีปี 2567 เที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด สามารถนำค่าที่พักที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

4. เงินบริจาค

  1. เงินบริจาคทั่วไป : สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน
  2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า : เงินบริจาคให้สถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน กีฬา สถานพยาบาลของรัฐ และเงินบริจาคพิเศษผ่าน e-Donation สามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  3. เงินบริจาคพรรคการเมือง : สามารถลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะต้องมีเอกสารมาแสดง คือใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่พิสูจน์ได้ถึงการบริจาคให้พรรคการเมืองดังกล่าว

หลังจากที่ได้ทราบแนวทางการวางแผนค่าลดหย่อนภาษีของปี 2567 กันไปแล้ว คงพอจะทำให้คนทำงานหลาย ๆ คนตระหนักได้ถึงความสำคัญของสิทธิในการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี การซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ

การบริจาค หรือจะเป็นการใช้สิทธิซื้อสินค้าและบริการแล้วเก็บ e-Tax Invoice ลดหย่อนภาษี ก็สามารถช่วยให้ได้รับเงินภาษีคืนเพิ่มมากขึ้น คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราควรนำเงินภาษีที่ได้รับคืนนั้นมาทำอะไรดี

ต้องบอกเลยว่า เงินคืนภาษีนั้นเปรียบเสมือนเงินก้อนพิเศษ คล้ายกับเงินโบนัสที่เราได้รับจากรัฐบาล เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเงินภาษีคืน ขึ้นอยู่กับการวางแผนภาษีของแต่ละคนนั่นเอง ดังนั้นเงินก้อนนี้จะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาที่รอคอย ซึ่งการนำเอาเงินคืนภาษีไปลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงย ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนใจเป็นอย่างมาก

หากท่านไหนที่สนใจเกี่ยวกับระบบ SunSystems, CheckSCM หรือบริการอื่นๆ ของ IMAS สามารถติดต่อได้ที่ Chanaporn@i-mas.net หรือ sunsupport@i-mas.net สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-6667400 หรือ Line Official : @imas.official (มี @ ด้วยนะครับ)

Reference : https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/taxes/tax-knowledge/tax-deductions-2567-summary