ธุรกิจ SMEsได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในการประกอบกิจการโดยเฉพาะการกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน
โดยปกติธุรกิจ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปของนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้า และบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับ กำไรสุทธิ 3 แสนบาทแรก และได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีเป็น 15% สำหรับกำไรสุทธิที่เกิน 3 สามแสนบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ธุรกิจ SMEs ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังต่อไปนี้
1. การลดหย่อนภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายได้เป็น 2 เท่า
ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี เป็นเวลา 5 รอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
2. การลดหย่อนภาษีจากการเพิ่มรายจ่าย
เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ ซึ่งเกิดจากรายได้หักด้วยรายจ่าย การเพิ่มรายจ่ายจึงทำให้ภาษีลดลง การเพิ่มรายจ่าย ได้แก่
2.1 ค่าเสื่อมราคาและค่าสึกหรอสำหรับทรัพย์สินดังต่อไปนี้
2.1.1 คอมพิวเตอร์รวมทั้งอุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คิดค่าเสื่อมราคาอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ โดยทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา
2.1.2 อาคารโรงงาน คิดค่าเสื่อมราคาอัตรา 25% ของมูลค่าต้นทุน มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักได้ ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี
2.1.3 เครื่องจักร และอุปกรณ์ของเครื่องจักร คิดค่าเสื่อมราคาอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุน มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา
โดยมีเงื่อนไขที่ว่าธุรกิจ SMEs ต้องมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน
2.2 ค่าจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายได้เป็น 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขดังนี้
2.2.1 พนักงานต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2.2.2 ผู้สูงอายุเป็นลูกจ้างบริษัทอยู่ก่อนแล้วหรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
2.2.3 ค่าจ้างผู้สูงอายุจะค้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
2.2.4 การจ้างผู้สูงอายุจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
2.2.5 ผู้สูงอายุต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้างหรือบริษัทในเครือ
2.3 รายจ่ายในการฝึกอบรม
ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือรายจ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
กรณีส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม
- ค่าใช้จ่ายในการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม ค่าลงทะเบียนรวมถึงค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมเรียกเก็บจากบริษัท
- มีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรม
- กำหนดเงื่อนไขให้เข้าทำงานหลังศึกษาหรือฝึกอบรมเสร็จ
- จัดทำรายงานหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าว
กรณีฝึกอบรมให้ลูกจ้างของตนเอง
- เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาแรงงานหรือฝีมือของลูกจ้าง ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
- ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการ
- ต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเพื่อเป็นหลักฐานการทำงาน
- กำหนดเงื่อนไขให้เข้าทำงาน
- อุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกอบรมต้องกำหนดขนาดและคุณสมบัติ เพื่อมิให้ปะปนกับที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัท
2.4 เงินบริจาค
ธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลสามารถขอลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
2.4.1 บริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าที่บริจาค แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
2.4.2 บริจาคให้กับ สถาบันการศึกษารัฐบาล เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศักยภาพสูง ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีสามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล
2.4.3 บริจาคให้กับกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค เมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
ข้อมูลการลดหย่อนภาษีเป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจ SMEs ผู้ประกอบการควรศึกษาทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้นำมาใช้ในจัดการและวางแผนการดำเนินธุรกิจให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่ และการทำบัญชีที่ดี ก็นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการได้เห็นรายได้ที่ถูกต้อง และชัดเจน ช่วยให้เตรียมตัวจัดการภาษีได้มากขึ้นเช่นกัน
หากท่านไหนที่สนใจเกี่ยวกับระบบ SunSystems, CheckSCM หรือบริการอื่นๆ ของ IMAS สามารถติดต่อได้ที่ Chanaporn@i-mas.net หรือ sunsupport@i-mas.net สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-6667400 หรือ Line Official : @imas.official (มี @ ด้วยนะครับ)
Reference : https://www.peakaccount.com/blog/tax/gen-tax/tax-reduction-juristic