ในแต่ละวันผู้ประกอบการทุกๆ รายจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่างๆ มากมาย แต่เราจะรู้ได้ไงว่าค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เราจ่ายไป แม้จะมีใบเสร็จรับเงินมาถูกต้องครบถ้วน แต่นักบัญชีกลับบอกว่าไม่สามารถนำมา หัก เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ หรือจะพูดง่ายๆ ว่า ค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปไม่ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดภาษีเลย ฉะนั้นวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันว่าค่าใช้จ่ายไหน “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ค่าใช้จ่ายทางภาษี
ค่าใช้จ่ายของบริษัท คืออะไร ?
ค่าใช้จ่ายของบริษัท คือ ต้นทุนชนิดหนึ่งที่กิจการได้ชำระเงินออกไป เพื่อชำระสินค้า หรือบริการ ที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการ โดยค่าใช้จ่ายของบริษัทจะแยกเป็น
• ค่าใช้จ่ายทางบัญชี คือ ค่าใช้ที่บริษัทจ่ายออกไปเป็นค่าสินค้า หรือบริการ ที่มีหลักฐานการจ่ายเงินถูกต้อง เช่น เงินเดือนของลูกจ้าง ค่าซื้อสินค้าเพื่อนำมาขาย ค่าใช้จ่ายนี้จะถือเป็นต้นทุนขาย
• ค่าใช้จ่ายทางภาษี คือ ค่าใช้จ่ายที่กิจการจ่ายเงินออกไป โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินถูกต้อง และกฎหมายอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายมา หักจากรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี แต่ค่าใช้จ่ายทางภาษีนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนกับค่าใช้จ่ายทางบัญชี แต่จะมีข้อยกเว้น โดยค่าใช้จ่ายบางอย่างสามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี แต่ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายต้องห้าม”
• ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่สรรพากรกำหนดว่า ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีได้นี้ โดยแบ่งออกเป็น 8 ประเภท คือ
1. รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการที่อยู่นอกระเบียบบริษัท เช่น ค่าน้ำมันรถของผู้บริหาร ค่ากิน เงินช่วยเหลือ งานบุญ งานบวช เป็นต้น
2. รายจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด กฎหมายได้กำหนดว่าค่ารับรองลูกค้าของบริษัทนั้นจะต้องไม่เกินหัวละ 2,000 บาทต่อครั้ง และต้องไม่เกิน 0.3% ของรายได้บริษัท และเพดานของรายจ่ายตรงนี้สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท ฉะนั้นรายจ่ายที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถนำมาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีได้
3. รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ คือ รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินสด และไม่มีการออกใบเสร็จให้ หรือ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าจ่ายให้ใคร ซึ่งหากไม่มีที่มาที่ไปในการจ่ายเงินที่ชัดเจน จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ฉะนั้นบริษัทต้องมีการระบุชื่อผู้รับ ออกใบเสร็จ หรือมีหลักฐานการโอนที่ชัดเจน เพื่อให้รายจ่ายนี้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
4. รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ในบริษัทขนาดใหญ่จะมีการจด VAT ซึ่งบริษัทต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่สรรพากร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขายสินค้าราคา 100 บาท เท่ากับว่าบริษัทรับเงินมาจริงๆ แค่ 93 บาท ส่วน 7 บาทจะถือว่าเป็นส่วนที่ต้องจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นเงินจำนวนนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นรายจ่ายทางภาษีของบริษัท
5. รายจ่ายให้กับบริษัทแม่ หรือบริษัทลูก ในทางบัญชีปกตินั้น “ค่าใช้จ่ายที่บริษัทแม่จ่ายให้กับบริษัทลูก” จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่ในทางภาษีตามกฎหมายไทยนั้น บริษัททั้งสองจะถือว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ดังนั้น การซื้อสินค้า และบริการให้กัน จึงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของเงินในบริษัทเท่านั้น
6. รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง โดยปกติแล้วในทางบัญชีจะมีการประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์อยู่เสมอ เพื่อสะท้อนมูลค่าของสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และในกรณีที่มูลค่าสินทรัพย์ลดลง ทางบัญชีจะถือว่าเป็นรายจ่ายในงบการเงิน แต่ในทางภาษีไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
7. รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป ถ้าจะให้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ บริษัททำธุรกิจตัดไม้มาขาย แน่นอนว่าไม้ที่ตัดไปย่อมทำให้ทรัพยากรที่มีลดลง โดยในทางบัญชีโดยทั่วไปจะถือว่าเป็นรายจ่ายได้ แต่ในทางภาษีจะไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่สามารถประเมินมูลค่าทรัพยากรที่ถูกใช้ไปได้ และไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินเพื่อหามูลค่าที่เสียไป ซึ่งถ้าเปิดโอกาสให้เอาส่วนนี้มาเป็นค่าใช้จ่าย บริษัทก็มีแนวโน้มจะประเมินมูลค่าทรัพยากรที่เสียไปเกินจริง
8. รายจ่ายค่าปรับ ค่าปรับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับบริษัทไม่ว่าบริษัทจะทำผิดกฎหมายระดับเล็กน้อย หรือมาก และเมื่อต้องเสียค่าปรับ แน่นอนว่าเงินส่วนนี้เป็นของบริษัทที่จ่ายออกไป โดยในทางบัญชีทั่วไปก็ต้องคิดเป็นรายจ่าย แต่ในทางภาษีเราไม่สามารถเอาพวกค่าปรับต่าง ๆ มาคำนวณในส่วนของค่าใช้จ่ายได้
พอจะแยกกันได้แล้วนะครับ สำหรับประเภทของค่าใช้จ่ายบริษัทต่างๆ ในครั้งหน้าเราจะมาแนะนำเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับภาษีครับ ฝากติดตามกันต่อในสัปดาห์หน้านะครับ 🙂
หากท่านไหนที่สนใจเกี่ยวกับระบบ Sun Systems หรือบริการอื่นๆ ของ IMAS สามารถติดต่อได้ที่ Chanaporn@i-mas.net หรือ sunsupport@i-mas.net สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-6667400 หรือ Line Official : @imas.official (มี @ ด้วยนะครับ)
Reference : https://www.getinvoice.net/tax_expenses/